:
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เทศบาลตำบลเมืองนะ // ติดต่อสอบถาม: 053-045082-3 โทรสาร : 053-045087 อีเมล : info@muangnalocal.go.th

ชื่อ: ถ้ำเมืองนะ

11 เม.ย. 2561

รายละเอียด:

    ถ้ำเมืองนะ ตั้งอยู่ที่ด้านขวา ติดกับเส้นทางเดินทัพสายสำคัญ สมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่า อยู่ห่างจากเขตแดนไทย-พม่า ฝั่งประเทศไทย ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ขณะนี้บริเวณนี้เป็นที่ตั้งศูนย์อพยพไทยใหญ่ นับพันหลังคาเรือน ตามประวัติศาสตร์เส้นทางสายนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเจ้า ได้ใช้เดินทัพจะเข้าไปตีทัพอังวะที่มารุกราน เมืองงาย และเมืองแสนหวี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา โดยเสด็จยกทัพไปทางเมืองเชียงใหม่ และทรงพักทัพที่เมืองเชียงใหม่ เพื่อสักการะพระพุทธสิหิงค์ และทรงเสด็จยกทัพไปตั้งค่ายใหญ่ที่ เมืองงาย จากเมืองงาย ก็ทรงเสด็จยกทัพผ่านเมืองนะ เข้าสู่เขตทุ่งแก้วของเมืองหาง (ขณะนี้ อยู่ในเขตประเทศพม่า เรียกว่า เมืองต่วน) เพื่อจะไปตีทัพอังวะ ที่บริเวณทุ่งแก้วนี้ พระองค์ท่านได้เกิดประชวรด้วย "ไข้ทรพิษ"

    ถ้ำเมืองนะ อยู่ติดกับเส้นทางเดินทัพ มีลักษณะตั้งอยู่สูงกว่าพื้นที่ราบประมาณ ๘ เมตร จุคนได้ประมาณ ๒๐-๓๐ คน เป็นถ้ำตัน สภาพเป็นพื้นเรียบ แต่ที่น่าแปลกคือ ที่ปากถ้ำมีร่องรอยของการทลายปากถ้ำให้กว้างออก และมีการนำหินจำนวนมากมาทำเป็นทางลาด (ลักษณะเดิมอาจจะเป็นหน้าผาค่อนข้างจะชัน เหมือนบริเวณใกล้เคียง) ขนาดกล้างประมาณ ๕ เมตร เพื่ออาจจะใช้เป็นทางขึ้นลง ด้วยคนจำนวนมากในคราวเดียวกัน (ผิดปกติจากถ้ำทั่วๆ ไป)
สภาพของหินที่ถูกทำลายที่ปากถ้ำ และหินที่นำมาทำทางขึ้นลง มีการสึกกร่อนทางธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี ถึงจะมีสภาพแบบนั้นได้ และเมื่อย้อนหลังไปเมื่อหลายร้อยปี (ดูจากสภาพหินที่ถูกทลายปากถ้ำ และหินที่นำมาทำทางขึ้นลง) บริเวณนี้ก็ยังคงจะเป็นป่าดงดิบ จะมีคนจำนวนมากมายทลายปากถ้ำได้ และนำหินก้อนโตๆ มาถมเป็นทางขึ้น-ลงได้ ก็เฉพาะคนที่มากับกองทัพเท่านั้น และถ้ายามปกติ คนในกองทัพก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำลายปากถ้ำ ให้กว้างออกและทำทางขึ้นลงที่มีขนาดใหญ่ เพราะตัวถ้ำมีขนาดเล็กและตัน คงจะไม่มีสิ่งใดสำคัญที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ด้วยคนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ขึ้นไปเก็บหรือนำลงมา หรือมีน้ำหนักมากจนต้องทำทางขนาดใหญ่ขึ้นไปรองรับ และในประวัติศาสตร์เท่าที่พอทราบอยู่บ้าง บางส่วนก็ไม่ปรากฎว่าได้ของสำคัญอะไร รวมทั้งไม่มีพวกโบราณสถาน หรือชุมชนใหญ่อยู่ในบริเวณแถวนี้

ลักษณะภายในถ้ำ
    ภายในถ้ำมีแท่นหินขนาดคนนอนได้สบาย แต่ขณะนี้ได้มีสำนักสงฆ์เกิดขึ้นที่นี่ และได้ใช้ไม้กระดานปูยกพื้นเหนือแท่นหิน เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูป และมีการตกแต่งพื้นถ้ำด้วยปูนซีเมนต์ทำให้เปลี่ยนสภาพที่แท้จริงไป สอบถามจากพระที่สำนักสงฆ์ได้ทราบว่า "หลวงปู่ดู่" แห่งวัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งไม่เคยออกนอกเขตวัด นับตั้งแต่อุปสมบทจนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ (ท่านเคยออกธุดงค์ ๑ ครั้ง) ชาวอยุธยาถือว่าท่านเป็นเกจิรูปหนึ่งของอยุธยา ท่านได้บอกให้คณะศิษย์มาตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นที่ถ้ำนะนี้ เพราะว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเจ้า ทรงเสด็จมาสวรรคต ณ ถ้ำแห่งนี้ ด้วยการให้ พระวรงคต วิริยะธโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ออกธุดงค์ไปค้นหาจนพบ และนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้สอบถามชายชาวไทยใหญ่อายุประมาณ ๖๐ ปี ความว่า ตั้งแต่เขตทุ่งแก้ว (เมืองต่วน) ในพม่า และตั้งแต่เขตแดนไทย ตามล่องเขาทางเดินทัพ จนถึงเมืองงายพบเห็นถ้ำที่ไหนบ้าง ที่มีการทำลายปากถ้ำให้กว้างออก และมีการทำทางขึ้น-ลงที่มีขนาดใหญ่ เหมือนกับถ้ำที่เมืองนะนี่บ้างหรือไม่ ก็ได้คำตอบจากชาวไทยใหญ่บอกว่า ไม่มี และยังบอกต่อไปว่า บริเวณแถวนี้ เคยเดินหาของป่า ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ก็เห็นลักษณะถ้ำแบบนี้ที่เดียว คือ ณ ถ้ำเมืองนะ วัดถ้ำเมืองนะ แห่งนี้เท่านั้น

รูปภาพ/ไฟล์เอกสาร